วันจันทร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2561

ข่าวที่9


6 กรกฎาคม 2561 ติวเข้มแผนจัดการสารเคมี

นางวันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการอบรมส่งเสริมความรู้ด้านการบริหารการจัดการสารเคมีและวัตถุอันตรายแก่ผู้ประกอบการ โดยมีสำนักอนามัย สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและผู้เข้าอบรม 190 คน เข้าร่วม ณ โรงแรมอิสติน เขตราชเทวี
สืบเนื่องจากในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีผู้ประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ กลุ่มกิจการการจัดเก็บ การผลิตและการสะสมสารเคมี การขนส่ง และการใช้งานสารเคมีและวัตถุอันตราย มากถึง 4,750 แห่งประกอบกับจากฐานข้อมูลบริหารจัดการสารเคมีและวัตถุอันตรายพบ มีสถานประกอบการที่มีระดับความเสี่ยงสูงร้อยละ 6.89 ตั้งอยู่ในเขตชุมชนที่มีประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่น ซึ่งจากการสุ่มสำรวจสถานประกอบการในปี 2561 จำนวน 200 แห่ง พบว่าร้อยละ 90 ไม่มีการจัดทำแผนฉุกเฉินด้านสารเคมี กรุงเทพมหานครจึงจัดการฝึกอบรมขึ้น เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ รวมทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เข้ารับการอบรมได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ร่วมกันจัดทำแผนฉุกเฉินและฝึกซ้อมแผนรองรับเหตุฉุกเฉิน
โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านสารเคมี ได้แก่ ดร.ไพฑูรย์ งามมุข ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตดอนเมือง และทีมวิทยากรจากสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
ที่มา : http://www.naewna.com/local/349847

ข่าวที่8


อึ้ง! พบสารเคมีตกค้าง เกินมาตรฐานในผัก-ผลไม้

อึ้ง!! พบสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐาน 64% ถั่วฝักยาว คะน้า ใบบัวบก กะเพรา พริกแดง องุ่น แก้วมังกร
เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือไทยแพน (Thai-PAN) โดยนางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานได้แถลงผลการเฝ้าระวังผักและผลไม้ซึ่งไทยแพนดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 พบว่า จากการเก็บตัวอย่างผัก และผลไม้จากทั่วประเทศจำนวน 150 ตัวอย่างเมื่อเดือนสิงหาคม 2560 ครอบคลุม..
-ผักยอดนิยม 5 ชนิด ได้แก่..ถั่วฝักยาว คะน้า พริกแดง กะเพรา และกะหล่ำปลี
-ผักพื้นบ้านยอดฮิต 5 ชนิด ได้แก่ ใบบัวบก ชะอม ตำลึง และสายบัว
-และผลไม้ 6 ชนิด ได้แก่ องุ่น แก้วมังกร มะละกอ กล้วย มะพร้าว สับปะรด
โดยตรวจครอบคลุมตลาดจำนวน 9 ตลาดในจังหวัดเชียงใหม่ ขอนแก่น ปทุมธานี ราชบุรี และสงขลา รวมทั้งจากห้างค้าปลีกยักษ์ใหญ่ 3 ห้าง และซุปเปอร์มาร์เก็ต 4 แห่ง พบว่าโดยภาพรวมมีสารพิษปนเปื้อนในผักและผลไม้เกินมาตรฐานถึง 46% แต่ก็ดีกว่าปีที่แล้วเล็กน้อย
ทั้งนี้เป็นปีแรกที่ไทยแพน สุ่มตรวจผักพื้นบ้านยอดนิยมเพื่อเปรียบเทียบกับผักทั่วไป และผลไม้พบว่า ผักยอดนิยมทั่วไปมีสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐาน 64% ผักพื้นบ้านยอดนิยม 43% และผลไม้ 33% ตามลำดับ

โดยในผักผลไม้ที่มีความเสี่ยงสูงได้แก่..ถั่วฝักยาว คะน้า ใบบัวบก กะเพรา พริกแดง องุ่น แก้วมังกร เพราะพบการตกค้างเกินมาตรฐานตั้งแต่ 7-9 ตัวอย่างจาก 10 ตัวอย่าง
"อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่าเป็นกังวลมากที่สุดคือไทยแพนพบว่ามีสารเคมีกำจัดวัชพืชหรือยาฆ่าหญ้าตกค้างในผักและผลไม้ในระดับสูงถึง 55% จากจำนวนตัวอย่างที่ส่งตรวจทั้งหมด 76 ตัวอย่าง ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะเท่าที่ผ่านมาแทบไม่เคยมีการสุ่มตรวจหาสารพิษกลุ่มนี้อย่างจริงจังมาก่อนเลย โดยผลการตรวจพบพาราควอตตกค้างในระดับเกินมาตรฐานสูงถึง 38 ตัวอย่างจาก 76 ตัวอย่างที่ส่งตรวจ รองลงมาคือไกลโฟเซต ตรวจพบ 6 ตัวอย่าง และอะทราซีน 4 ตัวอย่าง"
นางสาวกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา ผู้ประสานงานโครงการรณรงค์ "กินเปลี่ยนโลก" มูลนิธิชีววิถี ซึ่งเข้าร่วมการเฝ้าระวังครั้งนี้ร่วมกับเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกและเครือข่ายความมั่นคงทางอาหารใน 5 จังหวัด กล่าวว่า
"ก่อนการแถลงครั้งนี้ ไทยแพนได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานของรัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง พร้อมได้มอบข้อมูลทั้งหมดให้มีการดำเนินการตามขั้นตอนและกฎหมายของแต่ละหน่วยงาน หน่วยงานที่มาร่วมหารือ ได้แก่ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กรมวิชาการเกษตร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักอาหาร คณะกรรมการอาหารและยา กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.)"
ทั้งนี้หน่วยงานต่าง ๆ และผู้ประกอบการก็จะได้นำข้อมูลระบุแหล่งที่มาแหล่งผลิตและแหล่งจำหน่ายที่เป็นปัญหาไปดำเนินการแก้ปัญหาต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพบว่ายังมีการตรวจพบสารที่แบนและไม่อนุญาตให้ขึ้นทะเบียนแล้ว เช่น เมทามิโดฟอส อีพีเอ็น คาร์โบฟูราน และเมโทมิล รวมทั้งมีการพบว่าผักผลไม้ราคาแพงซึ่งประทับตรารับรองต่างๆ ยังมีสารพิษตกค้างเกินมาตรฐานในระดับสูงกว่าที่จะยอมรับได้
"ในส่วนของผักพื้นบ้านยอดฮิต ผลการตรวจชี้ว่า "ขณะนี้การเพาะปลูกผักพื้นบ้านยอดนิยมที่เป็นที่ต้องการของตลาดจำนวนมาก ก็มีการใช้สารเคมีเข้มข้นไม่น้อยเลย"
"ผลการตรวจครั้งนี้ยังเปิดเผยความจริง และชี้ให้เห็นว่าปัญหาของยาฆ่าหญ้าได้กลายเป็นปัญหาระดับชาติที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคทุกคนอย่างไม่อาจปฏิเสธได้อีกต่อไป"
"นอกเหนือจากผลักดันให้หน่วยงานรัฐและเอกชนแก้ปัญหาข้างต้นแล้ว เครือข่ายที่ติดตามปัญหาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชได้ประสานงานกับองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค และองค์กรสิ่งแวดล้อมหลายองค์กร ได้หารือจนได้ข้อยุติแล้วว่าจะร่วมกันฟ้องร้องกรมวิชาการเกษตรซึ่งอนุญาตให้มีการต่อทะเบียนพาราควอต"
"และเป็นไปได้ว่าอาจมีการต่อทะเบียนคลอร์ไพริฟอสด้วย ทั้งๆ ที่กระทรวงสาธารณสุขและคณะทำงาน 4 กระทรวงหลักได้เสนอต่อกรมวิชาการเกษตรให้ยุติการต่อทะเบียนและดำเนินการแบนสารทั้งสองชนิดดังกล่าว" นางสาวกิ่งกรกล่าว
 ที่มา : http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/782678

ข่าวที่7


โรงงานสารเคมีในจีนระเบิด มีผู้เสียชีวิตราว 19 คน

เกิดระเบิดที่โรงงานสารเคมีในพื้นที่อุตสาหกรรมเจียงอัน มณฑลเสฉวน ทำให้มีผู้เสียชีวิต 19 คน บาดเจ็บ 12 คน เบื้องต้นเจ้าหน้าที่กำลังเร่งสอบสวนหาสาเหตุ
ช่วงเย็นของวันพฤหัสที่ผ่านมา (12 ก.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น เกิดเหตุระเบิดที่โรงงานสารเคมีในเขตอุตสาหกรรมเจียงอัน มณฑลเสฉวน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน และการระเบิดดังกล่าวนี้ อยู่ในพื้นที่โรงงานของบริษัทเทคโนโลยีอี้ปินเหิงต้า
ทางเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นกล่าวว่า พบกลุ่มควันลอยขึ้นจากเขตอุตสาหกรรมดังกล่าว แต่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นสามารถควบคุมเพลิงและความเสียหายได้ในช่วงเช้าวันศุกร์ (13 ก.ค.) โดยเหตุการณ์ระเบิดดังกล่าวส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 19 คน บาดเจ็บ 12 คน แต่ยังไม่ทราบสาเหตุของการระเบิดที่ชัดเจน
บีบีซีรายงานว่า บริษัทอี้ปินเหิงต้า เป็นบริษัทที่ผลิตเคมีภัณฑ์สำหรับอุตสาหกรรมอาหารและยา 
ก่อนหน้านี้ในปี 2015 เกิดเหตุการณ์โรงเก็บสารเคมีระเบิดในทางตอนเหนือของเทียนจิน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 137 คน และจากการสอบสวนสาเหตุระเบิดในครั้งนั้นพบว่า เกิดจากความบกพร่องด้านระบบความปลอดภัยและการตัดไฟฟ้า โดยทางเจ้าหน้าที่ได้พุ่งเป้าสอบสวนว่าอาจมีการปล่อยให้เกิดการทุจริต การใช้ความสัมพันธ์กับนักการเมืองท้องถิ่น จึงปล่อยปะละเลยในเรื่องการตรวจสอบความปลอดภัย
ที่มา : Chinadaily


ข่าวที่6


ลุ้นดันยกเลิก"3สารเคมีอันตราย"อีกรอบ   

"หมอธีระวัฒน์ "เผยเตรียมผลักดัน ให้คณะกรรมการปฏิรูประบบสาธารณสุข หยิบปัญหารัฐบาล ตั้งกรรมการซ้อนกันหลายชุดพิจารณา "ไกลโฟเซต -คลอร์ไพริฟอส"ทั้งที่ 3กระทรวงมีมติ ให้ยกเลิกไปแล้ว  กางข้อมูลตอกย้ำสารเคมี3ชนิด มีความเสี่ยงสูง เป็นสารก่อมะเร็ง หากสะสมในร่างกายทำลายอวัยวะต่างๆ ส่งผลเด็กผิดปกติสติปัญญา  และเกิดการเบี่ยงเบนทางเพศ 
 13 ส.ค.61-ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในฐานะกรรมการปฏิรูประบบสาธารณสุข กล่าวถึงผลกระทบจากการใช้สารเคมีไกลโฟเซตและคลอร์ไพริฟอสว่า นอกจาก พาราควอตที่มีผลต่อสุขภาพประชาชนชัดเจนแล้วนั้น ยังพบว่าไกลโฟเซตมีกลไกทำปฏิกิริยากับโลหะหนัก ซึ่งสามารถสะสมในร่างกายและเข้าไปทำลายอวัยวะต่างๆในร่างกายได้ จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก( WHO) ระบุว่าไกลโฟเซต จัดอยู่ในสารพิษชนิด 2A  จากข้อมูลวิชาการของแคลิฟอร์เนีย เขียนไว้ชัดเจนว่าเป็นสารก่อมะเร็ง 
นอกจากนี้จากข้อมูลของศรีลังกายังพบว่าสารเคมีเกษตร 2ชนิด   จะส่งผลทำให้เกิดโรคไตวาย และสามารถพบได้ในเลือดเด็กแรกเกิดที่เกิดจากแม่ที่อาศัยในพื้นที่เกษตรกรรมมากกว่าแม่ที่ไม่ได้อาศัยในพื้นที่เกษตรกรรมถึง 49-54% ซึ่งจากข้อมูลไกลโฟเซตไม่ได้สลายได้ในดินทันที แต่สามารถกระจายไปในสิ่งแวดล้อม แหล่งน้ำ และผักผลไม้ที่เรารับประทาน และในส่วนของคลอร์ไพริฟอส นั้นในปี 2011 มีการศึกษาว่าเด็ก 7 ขวบหรือน้อยกว่ามีความผิดปกติทางด้านสติปัญญาจากการได้รับคลอร์ไพริฟอสเข้าสู่ร่างกาย และจากการทดลองในสัตว์ทดลองมีการตั้งข้อสังเกตว่าคลอไพริฟอสจะไปรบกวนการแสดงออกทางด้านเพศ จากเพศหนึ่งไปอีกเพศหนึ่ง ซึ่งในเรื่องนี้ยังไม่ชัดเจนจะต้องมีการศึกษาต่อไป

โดยในประเทศไทยเองก็ได้มีการเสนอให้มีการแบน พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และควบคุมการใช้ไกลโฟเซต และมีการยืนมติแบนโดย 3 กระทรวง คือ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรห์และกระทรวงอุตสาหกรรม และเมื่อวันที่ 23 พ.ค.คณะกรรมการวัตถุอันตรายกลับมีการตัดสินให้มีการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดได้ต่อไป  แบบมีการจำกัดการใช้ ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลกประหลาดมาก อย่างไรก็ตาม เมื่อต้นปี 2561ก็ได้มีการปรึกษากับทางกระทรวงสาธารณสุขว่าควรให้มีการแบนไกลโฟเซตไปด้วย ไม่ใช่เพียงแค่การจำกัดการใช้
 ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า หลังจากคณะกรรมการวัตถุอันตรายได้มีการตัดสินไม่แบนสารพิษทั้ง 3 ชนิดแล้ว ทางนายกฯ ก็ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการ ชื่อคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง โดยตนเป็นหนึ่งในคณะกรรมการ ซึ่งในความคิดเห็นส่วนตัวมองว่าที่ผ่านมา มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหลายชุดมากในการพิจารณาเรื่องนี้ เป็นเหมือนกรรมการซ้อนกรรมการทำให้การพิจารณายืดเยื้อออกไป เพราะเวลาให้มีการแสดงหลักฐาน ก็จะมีการเสนอหลักฐานเก่าไม่ใช้หลักฐานปัจจุบัน  หรือมีคณะกรรมการที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนให้การสนับสนุนกลุ่มผู้ผลิตสารเคมี ซึ่งแม้ว่าจะมีมาตรการเข้มข้นเหมือนที่ผ่านมาตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุ  ตนคิดว่าผลออกมาก็จะออกมาในลักษณะเดิม  ซึ่งในวันที่ 14 ส.ค.คณะกรรมการปฏิรูประบบสาธารณสุข จะมีการประชุมกัน ตนจะมีการเสนอให้มีการทำเรื่องเสนอผ่าน รมว.สธ. ว่าการตั้งคณะกรรมการดังกล่าวเป็นการกระทำขัดมติ ขัดระเบียบ ของ 3 กระทรวงที่มีการยืนมติเดิมให้มีการแบนสารเคมีทั้ง 3 ชนิดแล้ว
 “ในวันที่ 14 ส.ค.นี้  คณะกรรมการปฏิรูประบบสาธารณสุข จะมีการประชุมกัน ซึ่งในการปฏิรูประบบสาธารณสุข เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคนั้นชัดเจน ในเรื่องของอาหารปลอดภัย ซึ่งอาหารปลอดภัยก็สอดคล้องกับการปลอดสารเคมี ตามพ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาเกษตรยั่งยืน ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่อยู่ในระหว่างร่างกฎหมาย แต่ก็กลุ่มนายทุนผู้ผลิตสารเคมีออกมายื่นหนังสือคัดค้าน ซึ่งหากมีสารเคมีแล้วอาหารไม่ปลอดภัย คณะกรรมการปฏิรูปฯต้องโดนม.157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา คือการละเว้นหน้าที่ที่ควรทำด้วยหรือไม่ คำถามคือในเมื่อ นายกฯ ไม่ประกาศตัดสินให้มีการแบนการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว.
 ที่มา : https://www.thaipost.net/main/detail/15341


ข่าวที่5


ระทึก! สารเคมีในโรงงานรั่ว พนักงานหนีตายอลหม่าน

เกิดเหตุสารเคมีในโรงงานรั่ว พนักงานวิ่งหนีตาย เจ้าหน้าที่เข้าระงับเหตุเอาไว้ได้ทัน จากเหตุการณ์นี้ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตแต่อย่างใด
เวลา 11.00 น. วันที่ 25 ต.ค. 60 เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ดอนหัวฬ่อ ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่กู้ภัยไตรคุณธรรมว่า มีเหตุสารเคมีรั่วไหล บริษัทไทยเมกิ 2012 จำกัด เลขที่ 700/676 ม.7 ต.ดอนหัวฬ่อ อ.เมือง จ.ชลบุรี  มีพนักงานจำนวนมาก จึงรุดไปตรวจสอบทีเกิดเหตุ
ที่เกิดเหตุเป็นโรงงานเคลือบโลหะที่แท็งก์เก็บสารเคมีภายในโรงงาน มีสารสีเหลืองมีกลิ่นเหม็น พนักงานจำนวนกว่า 130 คน วิ่งหนีตายออกมานอกโรงงาน บางรายมีที่สูบดมเข้าไปมีอาการหน้ามืดเวียนหัว เจ้าหน้าที่กู้ภัยจึงเร่งนำตัวส่งโรงพยาบาลเป็นการเร่งด่วน
จากการสอบตรวจพบว่าสารเคมีดังกล่าวเป็นกรดไนตริกเป็นของเหลวไม่มีสี กลิ่นฉุนรุนแรง และมีความเป็นกรดสูง จึงอาจเป็นอันตรายต่อผิวหนังและผู้ที่สูดดม เบื้องต้นตอนนี้ทางโรงงานสามารถควบคุมการรั่วไหลได้แล้ว จากเหตุการณ์นี้ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตแต่อย่างใด
ที่มา : https://www.sanook.com/news/4003938/

ข่าวที่4


โรงไฟฟ้าแม่เมาะ ชี้แจง เหตุสารเคมีรั่วไหลไม่ใช่ ไซยาไนด์

การไฟฟ้าแม่เมาะแจงเหตุสารเคมีรั่วไหล คือ กรดไฮโดรคลอริก  เมื่อถูกน้ำจะเกิดเป็นไอมีกลิ่นฉุน ตามมาตรการด้านความปลอดภัย จึงให้พนักงานที่ปฏิบัติงานออกไปอยู่ในที่ปลอดภัย
นายศานิต นิยมาคม ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์การ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ชี้แจงถึงกรณีที่ช่วงเช้าวันที่ 6 พฤษภาคม มีกระแสข่าวว่า เกิดเหตุสารไซยาไนด์รั่วภายในบริเวณสถานที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทน เครื่องที่ 4-7 และมีการอพยพคนงานออกจากพื้นที่ดังกล่าว โดยกฟผ. ขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริงว่า สารเคมีดังกล่าวไม่ใช่สารไซยาไนด์
ทั้งนี้ ภายหลังเกิดเหตุสารเคมีที่ใช้ปรับสภาพน้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิตไฟฟ้ามีการรั่วซึม ได้ดำเนินการตามมาตรการความปลอดภัยเร่งด่วนจนสถานการณ์คลี่คลายกลับเข้าสู่สภาวะปกติเรียบร้อย เจ้าหน้าที่และคนงานกลับเข้าไปปฏิบัติงานได้ตามปกติ พร้อมยืนยันว่าไม่มีผู้ได้รับอันตรายจากเหตุการณ์ดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม โครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 4-7 (MMRP1) พบเหตุ กรดไฮโดรคลอริค (HCL) หรือ กรดเกลือรั่วไหลในปริมาณเล็กน้อยระหว่างการทดสอบระบบ จึงได้ให้คนงานที่อยู่ในรัศมี 10 เมตร ออกไปอยู่ที่จุดรวมพล เพื่อความปลอดภัย และเป็นการปฏิบัติตามมาตรการรักษาความปลอดภัย ระดับที่ 1
ที่มา : https://www.sanook.com/news/6334854/


ข่าวที่3


4 อาชีพเสี่ยง "โรคผิวหนังจากสารเคมี"

โรคผิวหนัง จากสารเคมี
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคผิวหนังที่เกิดจากสารเคมี เป็นโรคที่พบบ่อยมากในกลุ่มผู้ที่ทำงานก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรม และอาชีพเกษตรกรรม เนื่องจากปัจจุบันมีการใช้วัสดุและสารเคมีที่ทำให้เกิดโรคผิวหนังอย่างแพร่หลาย มีการใช้งานที่ไม่เหมาะสม หรือหากสัมผัสถูกผิวหนังโดยตรงโดยไม่มีเครื่องป้องกัน จะทำให้เกิดการระคายเคืองเกิดผื่นคันภูมิแพ้ที่ผิวหนัง และอาจเป็นโรคผิวหนังได้

อาชีพเสี่ยงโรคผิวหนังจากสารเคมี
อาชีพที่มีความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคผิวหนังจากสารเคมีได้แก่
-คนงานก่อสร้างที่ผสมปูนซีเมนต์
-คนงานในโรงงานที่เกี่ยวข้องกับโลหะ เครื่องหนัง ยางสีย้อมผ้า กาวพลาสติก เส้นใยแก้ว สีพ่น รวมทั้งน้ำมันเบนซิน และน้ำมันเครื่อง
-คนที่ต้องทำงานสัมผัสกับอุปกรณ์ที่ทำจากโลหะชุบนิกเกิล งานอุตสาหกรรมทำเครื่องหนัง ดอกไม้พลาสติก
-เกษตรกรที่ต้องใช้ปุ๋ยสารกำจัดแมลงศัตรูพืช
 วิธีป้องกันโรคผิวหนังจากสารเคมี
ผู้ที่ประกอบอาชีพดังกล่าวข้างต้นควรดูแลสุขภาพของตนเอง โดยเฉพาะผู้ที่เป็นภูมิแพ้ควรระวังเป็นพิเศษ โดยสวมอุปกรณ์ป้องกันสารเคมีก่อนเริ่มปฏิบัติงาน เช่น สวมถุงมือที่ทำจากวัสดุพีวีซีหรือยาง ใช้ผ้ากันเปื้อน หรือสวมชุดป้องกัน เป็นต้นโดยเลือกใช้อุปกรณ์ให้เหมาะสมกับงาน หากมีอาการแพ้หรือมีผื่นคันขึ้นตามผิวหนังให้รีบพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาต่อไป
นายแพทย์สมบูรณ์  ทศบวร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากโรคผิวหนังทำให้เกิดการระคายเคือง ผื่นคัน และมักเป็นๆ หายๆ เกิดปัญหาทั้งร่างกายและจิตใจของผู้ป่วย ดังนั้นแนวทางการป้องกันโรคผิวหนังที่เกิดจากสารเคมี ได้แก่ หยุดสัมผัสสิ่งที่ทำให้เกิดอาการระคายเคืองหรือภูมิแพ้โดยเลือกใช้สารที่อันตรายน้อยกว่าหรือปรับปรุงวิธีการทำงานให้มีโอกาสสัมผัสกับสารต่างๆให้น้อยที่สุด หมั่นทำความสะอาดพื้นบริเวณที่ทำงานเป็นประจำ และใช้ครีมทามือเพื่อป้องกันสารระคายเคือง ช่วยให้ทำความสะอาดมือง่ายขึ้น หรือใช้ครีมให้ความชุ่มชื้นทาผิวช่วยลดความแห้งตึงของผิวได้ หากมีบาดแผลต้องรีบทำความสะอาด  และปิดแผลด้วยผ้าปิดแผลที่สะอาด
ถ้าหากมีการระคายเคืองหรือผดผื่นเกิดขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เนื่องจากกรณีที่ผิวหนังแห้ง แตก เป็นแผล หากติดเชื้อจะทำให้โรคผิวหนังที่เป็นอยู่ลุกลามมากยิ่งขึ้น
 ที่มา  : https://www.sanook.com/health/11653/